3 สิ่งในการบรีฟงาน ที่ห้ามลืมเด็ดขาด!

0

THE PAIN : 

  • สั่งงานไปแล้วไม่ได้ ? 
  • บรีฟไปแล้ว คนรับบรีฟงง เริ่มต้นไม่ถูก ?
  • คนรับบรีฟ ดูไม่ยินดีทำงานให้เลย ไม่เต็มใจ ?

THE MIND : 

ปกติทำงาน ปฏิเสธไม่ได้เลยกับการที่ต้องดีลงาน คุยงาน หรือขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง ปัญหาปกติที่ผมเคยเจอคือ ทุกคน ไม่ว่าระดับไหน คิวทองกันหมด กว่าจะได้คุย กว่าจะได้บรีฟ ต้องรอแล้ว รออีก รอจนจะผ่าน Deadline ของงานไปแล้วก็ยังไม่ได้เริ่มบรีฟงานให้เลย พอบรีฟไปจบ ก็ทำงานมาไม่ตรงแบบที่อยากได้บ้าง ไม่ตรง Timeline บ้าง ไม่กระตือรือล้นบ้าง

ก่อนที่จะแก้ปัญหาต้องยอมรับก่อนว่า ปัญหาใหญ่สุดเกิดจากตัว “เราเอง”

  • งานออกมาไม่ตรงแบบที่อยากได้ เพราะเรา บรีฟอย่างเดียว แต่ไม่เหตุผลให้ชัดเจน
  • งานออกมาไม่ทัน เค้าไม่กระตือรือล้นทำให้ เพราะเรา ไม่กำหนดเรื่อง Deadline
  • คนทำงานไม่เต็มใจทำให้ เพราะเรา สั่งอย่างเดียว แต่ไม่ไกด์ หรือบอกแนวทางอะไรมาให้เลย

วันนี้เราจะมาดู เคล็ดลับง่ายๆ แค่ 3 ขั้นตอน ผ่านการทดลองใช้งานจริงมากแล้ว ได้ผลดีมาก อ่านจบปุ๊บเอาไปใช้งานได้เลย ทำให้สั่งงานให้ได้งาน ตรงใจ ทันเวลาอยู่ทุกสถานการณ์ 

1. ทำไป ทำไม (Why)
งานที่ให้ไป ทำไปทำไม การที่เราบอกจุดประสงค์ อย่างเป็นเหตุเป็นผล ทำให้คนที่รับบรีฟ จะไม่ตั้งกำแพง และเข้าใจในตัวงาน จนบางครั้ง เค้าอาจจะนำเสนอ Idea เพิ่มเติม ทำให้งานออกมาดีขึ้นกว่าที่เราคิดด้วย 

การบรีฟงานปกติ
เรา :
“น้องครับ ช่วยปรับแปลเอกสารเป็นภาษาอังกฤษให้พี่หน่อย เร่งมาก ทำมาดีๆนะ”

น้อง : “ค่ะ” (งานก็เยอะ จะมาเร่งอะไรอีก ปกติก็ทำดีอยู่แล้วนะ จะเอาอะไรมากมาย)

การบรีฟงาน แบบมี Why
เรา :
“น้องครับ ช่วยปรับแปลเอกสารเป็นภาษาอังกฤษให้พี่หน่อย เร่งมาก ทำมาดีๆนะ เพราะเดี๋ยวพี่ต้องเอาไปรายงานผู้บริหารที่บินมาจากต่างประเทศ ท่านมาแค่ 1 วันแล้วกลับเลย
น้อง : “อ๋อ โอเคค่ะพี่ งั้นเดี๋ยวเอกสารนี้ หนูจะแปลให้กระชับ และตรงประเด็นไปเลยนะคะ จะได้รายงาน แบบไม่เสียเวลา เพราะเวลาท่านน่าจะมีไม่มากค่ะ”

2. แนวทาง (How)
บอกงานอย่างดี เล่าที่มาที่ไป แต่งานออกมาไม่ตรงกับที่เราอยากได้ หลายๆคนคงเคยได้ยินมาว่า การฝึกใครให้เก่ง ควรฝึกให้เค้าคิดเอง การบรีฟงานและได้งานที่ดี ไม่ควรกำหนดกรอบ แต่บางทีในชีวิตจริง งานที่ต้องเร่ง ต้องได้ตาม Timeline และคนที่เราบรีฟ เป็นคนที่ยังมีประสบการณ์ไม่เยอะ การที่ไม่แนะนำอะไรให้เลย พองานออกมาไม่ตรงโจทย์ ก็เท่ากับเสียเวลาแก้งานใหม่ เสียเวลามากกว่าเดิมอีก

การบรีฟงานปกติ
เรา : “ลูกค้ามีปัญหาเรื่องยอดขายไม่ขึ้นมา 3 เดือนต่อกันแล้ว ช่วยหาวิธีการแก้ปัญหามานำเสนอให้พี่หน่อย”

การบรีฟงาน แบบมี How
เรา :
ลูกค้ามีปัญหาเรื่องยอดขายไม่ขึ้นมา 3 เดือนต่อกันแล้ว ช่วยหาวิธีการแก้ปัญหามานำเสนอให้พี่หน่อย เริ่มจากวิเคราะห์ปัญหาลูกค้าให้ชัดก่อนนะครับ แล้วค่อยคิดต่อยอดจากปัญหานั้นต่อ


3. กำหนดส่ง (When) 
ข้อนี้ง่ายมาก และสำคัญมาก โดยปกติแล้วถ้าเราสั่งงานใครไป แล้วไม่บอกกำหนดเวลาที่ชัดเจน สิ่งแรกเลยคือ เค้าจะคิดว่างานเราไม่รีบ ทำตอนไหนก็ได้ ขอเคลียร์งานอื่นๆ เสร็จก่อน ทำให้เราไม่ได้งานตรงตามเวลา และไม่กระตือรือล้น รีบส่งงานให้เรา
 

การบรีฟงาน แบบมี When
เรา : “น้องครับ งานนี้ต้องเสร็จก่อนบ่าย 3 โมงนะครับ”

ข้อควรระวังของการบรีฟแบบมี Deadline เราควรจะถามคิว หรือสลอทงานของคนที่เราบรีฟงานด้วย ไม่งั้นเราจะไม่ได้ทั้งงาน และอาจจะผิดใจกับเพื่อนร่วมงานด้วย

เรื่องที่เล่ามา เป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนมาก แต่เป็นสิ่งสำคัญที่หลายๆคน อาจจะลืมกันไป ดังนั้น เวลาจะบรีฟงานใคร หรือให้ใครช่วยงาน อย่าลืมนำ 3 ขั้นตอนนี้ไปใช้ประโยชน์กันนะครับ แต่ไม่ว่าจะมีกี่เทคนิคก็แล้วแต่ หลักการที่ใช้ได้เสมอคือ “ใจเค้า ใจเรา” เป็นหลักการที่สำคัญที่สุด ในการทำงานไม่ว่ากับใครก็ตาม

Comments

comments

Share.

About Author

วิเคราะห์ แชร์แนวคิดและมุมมองด้านธุรกิจ การตลาด ด้วยแนวคิด แบบวิทยาศาสตร์ เชื่อว่า ความรู้ทุกสิ่งไม่มีผิด ไม่มีถูก อยู่ที่ประสบการณ์ที่ได้เจอ และมุมมองที่กลั่นกรองออกมาได้

Leave A Reply